
บทความจากนิตยสาร E-commerce Magazine ฉบับที่ 185 ประจำเดือน พฤษภาคม 2557 ประสบการณ์การไปเที่ยว และทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นในนามบริษัทเมื่อหลายเดือนก่อน
ความจริงแล้วผมกะจะเขียนประสบการณ์การไปเที่ยว และทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อหลายเดือนก่อนหลายทีแล้ว แต่มีอุปสรรคมากมายที่ทำให้ไม่เสร็จสักที แต่สุดท้ายก็ถ่ายทอดทริปนี้ออกมาสไตล์เล่าไปคุยไปถ่ายรูปไปเล่นไปจนจบ
ประมาณปลายปีที่แล้ว ผมมีโอกาสได้ประชุม Global Meeting ของบริษัท Adways Labs Thailand co., Ltd ในเรื่องของการนำแพลตฟอร์มเทคโนโลยีด้าน Mobile Marketing & Mobile Monetize Model มาเปิดตัวในประเทศไทย และเอเชียโดยทีมจะมีทีมต่างประเทศในเอเชียรวมตัวกันที่นั่น ก็นับว่าเป็นการเดินทางประชุมพบเจอ ผู้ชำนาญการหลากหลายคนในวงการ การตลาดออนไลน์ และนักพัฒนาแอพพลิเคชั่น และโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์มากมายทั่วเอเชีย โดยกำหนดการอยู่ที่เมืองชินจูกุ ประเทศญี่ปุ่นครับ เอาเป็นว่านี่ก็เป็นครั้งแรกที่ไปญี่ปุ่นนะครับ แถมไปดูเทคโนโลยีด้วย ต่างจากเมื่อก่อนที่ไปเวียดนาม ลาว สิงคโปร์ และอินเดียมาก็จะพบว่าทริปนี้น่าตื่นตาตื่นใจกว่าในเชิงนวัตกรรมครับ ดังนั้นขอบรรยายแบบ “บ้านนอกเข้ากรุง” หน่อยแล้วกัน
การเดินทางสำหรับการเตรียมตัวไปญี่ปุ่นครั้งนี้ แม้ว่าจะมีหลายคน รวมไปถึง Yahoo Weather จะบอกเราว่าอากาศที่นั่นในตอนนั้นแค่เย็นๆ เอาแจ็คเก็ตไปตัวเดียวก็พอ ก็ขอเตือนว่าอย่าไปเชื่อมากครับ เพราะแม้เทคโนโลยีจะล้ำหน้า ขนาด Yahoo เองที่น่าเชื่อถือพอๆ กับกรมอุตุฯ ของต่างประเทศ และในประเทศไทยเราก็ยังพลาดกันได้เหมือนอย่างที่ผมพบเจอมา เพราะเอาเข้าจริง ในโปรแกรมจะบอกเราว่าหลังจากนี้ไปที่ญี่ปุ่น 5 วัน อากาศจะเย็นสุดเพียง 22 องศา แต่พอไปถึงนั้นสิ่งที่ต้องเผชิญคือ ฝนตกหนัก พายุเข้า และอากาศที่หนาวเหน็บเข้าขั้น 12 องศาครับ และแน่นอนว่าผมต้องเผชิญอากาศ และความชื้นนั้นเพียงแจ็คเก็ตตัวเดียวเพราะเชื่อในเทคโนโลยีมากเกินไป ดังนั้น เหตุการณ์แรกที่ต้องเตรียมตัวคือ
- สื้อแจ็คเก็ตถ้ารู้ว่าต้องไปในช่วงต้นๆ ก่อนเข้าหน้าหนาว จะเย็น จะหนาว จะร้อนก็พกแจ็คเก็ตไปเถอะ
- รองเท้าผ้าใบที่คล่องตัว เอาเข้าจริงๆ แล้วเก็บน้ำตอนฝนตกได้ปริมาณมากพอดู ดังนั้นบูทหนังกันน้ำคือทางเลือกที่ดีกว่า ในยามไปเที่ยวหน้าหนาว และฝนในต่างประเทศ
สายการบินที่ผมนั่งไปนั้นคือ Japan Airline หรือตัวย่อ JAL กับการฆ่าเวลาด้วยภาพยนตร์บนเครื่องบิน ที่ไม่มีซับไทยนะครับ 3 เรื่อง และภาพยนตร์ในแท็บเล็ต Samsung Galaxy Tab 7 นิ้วของผมอีก 2 เรื่อง ยาวไปถึงเกมบน Sony PSP ของผมอีก ประมาณหนึ่ง ก็กินเวลายาว 5 ชั่วโมงโดยหลับไม่ลงเลย ไม่ใช่อะไรหรอกครับผมเป็นคนหลับยากเวลาเดินทางไม่ว่าจะด้วยอะไร
สำหรับ Wi-Fi บนเครื่องบินนั้น ราคาไม่ใช่เล่นครับ เป็นไปได้ไม่จำเป็นจริงๆ ก็อย่าไปซื้อ Wi-Fi ของสายการบินเลยอยู่เฉยๆ ดีกว่า เพราะเดี๋ยวงบประมาณจะหมดเอาได้ เหตุการณ์ส่วนที่สองของการเตรียมตัวสำหรับเดินทางคือ
- ตรวจสอบ Airplane Mode เครื่องสมาร์ทโฟน และเท็บเล็ตของคุณให้ดี
- ระวังอย่าคิดว่าการเปิดใช้ Mobile Data เพียงไม่กี่นาทีบนเครื่อง ขณะบินหรือลงจอดแล้วแค่ 1-2 นาทีจะเสียเงินไม่เยอะ เวลาคุณเห็นใบเสร็จค่าโทรศัพท์คุณจะเจออาการกุมขยับ หรือใช้มากหน่อยก็ล้มทั้งยืน
- ภาพยนตร์ที่รับชมบนเครื่องเลือกภาพยนตร์ที่พูดช้าๆ ฟังง่ายๆ จะเป็นการเตรียมศัพท์ และประโยชน์ภาษาอังกฤษให้คุณฟังไปในตัว
- เบียร์ฟรี และไวน์บนเครื่อง 2 เวลา ช่วยให้การเดินทางของคุณสนุกและลื่นขึ้น
สิ่งแรกที่ทำเมื่อเหยียบสนามบิน นาริตะ
แน่นอนว่าหลายคนจะเป็นเหมือนผม คือการดั้นด้นหาอินเทอร์เน็ตเพื่อเช็กงาน และติดต่อคนที่ประเทศไทย ซึ่งแน่นอนว่ามีอยู่ 2 ทางเลือกครับ คือซื้อซิมไป หรือก่อนเดินทางให้ทำการเปิดแพ็กเกจ Roaming เหมาวันไปเลย ผ่าน Wi-Fi Pocket แบ่งกับเพื่อน แต่ถ้าหากขณะที่กำลังจำกัดควบคุมการใช้งานนั้น คุณสามารถเชื่อมต่อ Public Cloud Wi-fi ของสนามบินนาริตะได้เลย เพียงแค่คุณอาจจะต้องยอมรับกฎเกณฑ์บางอย่างของการใช้งาน
Public Cloud Wi-fi ของสนามบินนาริตะ จะมีพื้นที่สัญญาณที่ครอบคลุม 2 ชั้นของอาคารกลาง และทางออกโซนรอรถลีมูซีนบัส ข้อกำหนดในการใช้งานนั้น จะมีการเก็บข้อมูลการใช้งานของเรา เพื่อความปลอดภัย เช่น การส่งสัญญาณ หรือการก่ออาชญากรรม ดังนั้น
ถ้าไม่ซีเรียสอะไรมากในการใช้งานฟรีๆ แค่ แชต เล่นแอพพลิเคชั่นอย่าง Facbook, Instagram, Line หรือ E-Mail(ที่ไม่สำคัญอะไรมาก) คุณก็ใช้ได้เลย แต่ถ้าทำธุรกรรม เช่น Internet Banking หรือซื้อของตัดเงินผ่านบัตรเครดิต ก็แนะนำว่าอย่าทำครับ เพราะข้อมูลถูกดูดเก็บเอาได้ เพื่อสิทธิข้อมูลสำคัญส่วนตัวของเรา อย่าทำธุรกรรมใดๆ หากใช้ Cloud Wi-fi ฟรีของสนามบินครับ หรือถ้าจำเป็นจริงๆ ต้องการทำธุรกรรมที่สำคัญ ระบบของ Cloud Wi-fi ของสนามบินก็จะมี Virtual Private Network หรือ VPN เป็นเครือข่ายเสมือนส่วนตัว ที่แบ่งจากโครงสร้างเดิมของ Public Wi-fi ที่เป็นสาธารณะ
แต่ก็คงความเป็นเครือข่ายเฉพาะช่องทางพิเศษโดยการเข้ารหัสแพ็คเกจข้อมูลก่อนส่ง เพื่อให้ข้อมูล มีความปลอดภัยครับ และเป็นที่แน่นอนว่า VPN นี้มีค่าใช้จ่าย
ด้วยความที่หนังสือเดินทางของผมนั้น ทำขึ้นในปี 2553 เป็นเล่มเก่าระบบชิปที่ฝังไว้จึงไม่มีการเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นที่ช่วงนี้ยกเลิก Visa จึงเป็นเรื่องลำบากทันทีเมื่อ หนังสือเดินทางผมสแกนเข้าระบบไม่ได้ ก็ต้องโดนกักบริเวณสอบสวนเล็กน้อยครับว่ามาทำอะไร คำถามไม่ยากครับ หากใครที่โดนกักตัวก็มีแค่มาจากประเทศอะไร มาทำอะไร พักที่ไหน ตอบคำถามไปเรื่อยๆ พอเจ้าหน้าที่ถามว่า มีบัตรเครดิตหรือไม่? ก็ตอบว่ามี เขาก็ปล่อยครับ เหตุผลหลักๆ ที่ผมถามเขาว่า ทำไมถึงปล่อยตัวผมออกมานั้นคืออะไร ก็ตรงบัตรเครดิตนี่แหละครับ เพราะถ้ามีการใช้ก็ระบุตัวตนของคนมาเที่ยวได้ ส่วนมากคนที่ไม่มีบัตรเครดิตนั้นหนีเข้ามาในประเทศ ลักลอบทำงานกันเยอะในช่วงที่ยกเลิก Visa ดังนั้น ส่วนที่สามของการเตรียมตัวคือ
- ถ้าหนังสือเดินทางเป็นแบบเก่า ไม่มีชิปสำหรับสแกน ให้ไปแจ้งหายทำใหม่
- ถ้าไม่อยากทำใหม่ ก็ตอบคำถามเล็กน้อย และมีคนรับรองเราที่นั่นพอครับ
ความตรงเวลาเป็นสิ่ง “สำคัญ” และ “ดีที่สุด”
ด้วยความเป็นคนไทยครับ และทำงานในแบบสไตล์ของคนไทยมานาน พอได้มารู้จักกับคนญี่ปุ่น และติดต่อธุรกิจมากมาย เขาก็มีคำถามว่า ทำไมเขาถึงซีเรียสเรื่องเวลากันนัก จนกระทั่งได้มาที่ประเทศนี้ผ่านเหตุการณ์หลายๆ อย่างก็ได้เข้าใจคำถามนี้แล้ว
ด้วยความที่โดนกักตัวในด่านคนเข้า เพราะหนังสือเดินทางเจ้ากรรม ก็ทำให้ผมตกรถลีมุซีนบัสคันแรกไปโดยปริยาย พอซื้อตั๋วใหม่ก็ได้คิวรอบหนึ่งทุ่มตรง ทั้งที่เวลาที่ผมอยู่ในตอนนั้นคือ หกโมงเย็นเอง ผมต้องนั่งรอรถลีมูซีนบัสนานกว่า 1 ชั่วโมงกับกาแฟดำ 2 แก้ว แม้จะเป็นการนั่งรอที่แสนเบื่อหน่าย แต่ก็ได้เห็นระบบ และจังหวะของบางสิ่ง รถลีมูซีนที่วิ่งมาแต่ละคันก่อนจะถึงรอบของผม 10 คันนั้น มาตรงเวลาที่กำหนดไม่มีผิดพลาด อีกทั้งการเก็บกระเป๋า จัดการที่นั่งของคนแต่ละคนทั้งเจ้าหน้าที่ก็ใช้เวลาจำกัดเพียง 11 วินาทีในการเตรียมพร้อมทุกอย่างเสร็จสรรพ ทำให้ระบบการดำเนินของเจ้าลีมูซีนแต่ละคันไม่มีสะดุดแม้แต่น้อย
พอถึงคิวรถของผม สถานีปลายทางคือ โรงแรมนิชิชินจูกุ ต้องไปลงที่ฮิลตันโฮเตลก่อน แล้วเดินไปอีก 2 บล็อก ในการเดินทางจากสนามบิน ความคิดส่วนตัวคือ ไกลจัง แต่เวลาทำกำหนดไว้บนรถ และแต่ละสถานีที่ลงก็ตรงเวลาทุกสถานี อีกทั้งวิว ตึกรามบ้านช่องที่ปรากฏก็ได้เห็นบรรยากาศการทำงานที่ ณ ตอนนั้นคือ เวลา 3 ทุ่มกว่าแล้ว แต่ก็ยังเต็มที่ในการทำงานตามสไตล์คนญี่ปุ่น
เมื่อรถลีมูซีนของผมถึงโรงแรมฮิลตันโฮเตล แล้ว ผมก็ใช้เวลาเดินย้อนกลับไปที่ นิชิชินจูกุ อีกเพียง 10 นาทีเท่านั้นเอง สิ่งที่ผมพบเจอในเหตุการณ์นี้ก็คือ
- การเดินทางในประเทศญี่ปุ่นถ้าไม่มีอุบัติเหตุอะไร เราคำนวณเวลาในการเดินทางได้เองทุกที่
- ขนส่งสาธารณะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกมากจริงๆ ถ้าเทียบกับประเทศไทย
อย่างที่บอกไว้ครับประเทศที่เจริญแล้ว มักจะเน้นให้คนในประเทศใช้สาธารณูปโภค หรือขนส่งสาธารณะมากกว่ามีรถยนต์ของตัวเอง เพราะเรื่องของการกำหนดเวลาได้ เช่น การเดินทาง การขนส่ง แม้แต่การสื่อสารที่อาจจะเป็นประเทศชาตินิยมอยู่ แต่จะเห็นว่าความต่าง และการให้ความสนใจช่วยเหลือคนต่างชาตินั้นเต็มที่ครับ เข้าเรื่องขนส่งสาธารณะนั้น แตกต่างกับทุนนิยมกลายๆ ของประเทศไทยอย่างสิ้นเชิงในแง่ของกฎหมายครอบครองรถยนต์ ประเทศไทยเรานั้น ครอบครัวหนึ่งครอบครัวมีสมาชิก 4 คน กลับมีรถยนต์ 4 คัน ในขณะที่ในประเทศญี่ปุ่น 1 ครอบครัวจำเป็นต้องมีรถยนต์ 1 ถึง 2 คันและใช้ยามจำเป็นก็พอ ดังนั้น การควบคุมสภาพการจราจรจากจำนวนของรถยนต์จึงเป็นการง่าย และจัดการได้ง่ายกว่าในประเทศไทยครับ
มีคนบอกว่า การนั่งแท็กซี่ในประเทศญี่ปุ่นนั้น แพงมาก หากว่าต้องเดินทางกลับบ้านด้วยรถแท็กซี่ในตอนที่รถไฟฟ้าหมดแล้ว แนะนำให้นอนโรงแรมเลยเพราะถูกกว่า เรื่องนี้จริงครับในแง่ของกฎหมายของรถแท็กซี่นั้น พนักงานขับรถแท็กซี่ในประเทศญี่ปุ่นจะปฏิเสธผู้โดยสารอย่างที่พนักงานขับรถแท็กซี่ในประเทศไทยทำนั้นไม่ได้ ด้วยความที่พนักงานขับรถนั้นกินเงินเดือน ต่างกับการส่งรถของคนไทยครับ ความสะดวกสบายอย่างหนึ่งตามสไตล์ Tech Geek อย่างผมได้พบคือ เพื่อนที่ญี่ปุ่นจะแนะนำให้ใช้แท็กซี่ในช่วงเร่งด่วน ในขณะนั้นได้ข่าวว่า Uber บริการเรียกแท็กซี่ยังไม่เปิดตัว แต่มีข่าวจะเปิดเลยไม่ได้ใช้บริการของมัน (ในขณะที่หลังจากที่ผมกลับมาเพียง 1 เดือน Uber ก็เปิดบริการที่โตเกียวทันที และไม่นานมานี้ก็เปิดบริการที่กรุงเทพฯ ครับ)
แอพพลิเคชั่นในการเรียกรถลิโม หรือแท็กซี่บนแพลตฟอร์ม iOS คือ Japan Taxi โดยการใช้แอพพลิเคชั่นนี้ส่งข้อมูล Request ไป ระบบก็จะมีการระบุพิกัดตำแหน่งของเส้นทางที่ผมจะไปขึ้นมา หลังจากนั้นก็จะมีแท็กซี่ที่เข้าโครงการปรากฏมาครับ รูปแบบธุรกิจนี้จะคล้าย Grab Taxi ที่เปิดตัวในไทย เลยครับทำให้สะดวก แต่ก็แนะนำว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางบนแท็กซี่นั้นสูง หากว่าไม่จำเป็นไม่ต้องนั่งเลยครับเดิน ออกกำลังกายเอาดีกว่า เพราะเวลาในการเดินเท้า หรือนั่งรถสาธารณะที่ญี่ปุ่นนั้น เราคาดคะเนได้ตรงหมดครับ
อาหารการกินที่ไม่ยากเกินไปสำหรับคนไทย
สำหรับมื้อแรกในวันแรกที่ญี่ปุ่น ในย่านชินจูกุนั้น มีร้านอาหาร และร้านสะดวกซื้อมากมายครับ ปัญหาในการสื่อสารที่พบเจอตอนแรก เช่น การถามทางเป็นภาษาอังกฤษ แต่ได้คำตอบเป็นภาษาญี่ปุ่น แล้วก็งงกันเป็นไก่ตาแตก ก็ทำให้เกิดความกังวลใจว่าจะสั่งอาหารยังไง แต่เอาเข้าจริงไม่ค่อยลำบากครับ เมื่อเลือกร้านที่ต้องการแล้ว มองไปทางซ้ายหรือขวาของประตูหน้าร้านซะหน่อย เราจะพบกับเครื่องแมชชีน หรือตู้กดเพื่อหยอดเหรียญหรือธนบัตร แล้วจิ้มเมนูที่ต้องการ แน่นอนว่ามีรูปภาพประกอบครับ เมื่อหยอดเหรียญและได้รับบัตรคิวสั่งอาหารมาแล้วก็ไปที่โต๊ะอาหาร ยื่นใบเสร็จดังกล่าวให้พนักงานที่ทำอาหารได้เลย ก็จะได้เมนูที่เราต้องการจะทาน แบบที่ไม่ต้องกังวลในเรื่องของภาษา และการสื่อสารกับคนทำอาหาร หรือเจ้าของร้านที่ไม่เข้าใจภาษาอังกฤษเลยครับ
ซึ่งหลังจากคืนแรกแล้วในคืนต่อๆ จะพบว่า ร้านอาหารหลายร้านนั้นมีเครื่องแมชชีนตัวนี้แทบทุกร้านในย่านกลางเมือง ตัดปัญหาการ “ชักดาบ” ทานแล้วไม่จ่ายเงินได้ แต่ก็ยังมีหลายร้านที่ยังต้องจ่ายเงิน และสั่งอาหารที่พนักงานอยู่ก็เยอะเหมือนกัน แต่ร้านเหล่านั้นให้สังเกตว่า ถ้าพนักงานพูดภาษาอังกฤษได้ก็ไม่ต้องห่วงแล้ว แต่ถ้าเป็นร้านเก่าแก่แต่ขึ้นชื่อปัญหาที่จะพบคือ การพูดคุยแน่ๆ ใช้ภาษาใบ้จิ้มภาพไปเลยครับ
ในเรื่องของอาหารการกิน อาหารญี่ปุ่น นั้นเป็นสิ่งที่คนในยุคนี้พบเจออยู่บ่อยทั่วไป และความแปลกของอาหารก็ไม่ต่างจากที่พบเห็นมาก นอกจากเรื่องของวัตถุดิบ ดังนั้น ถ้าไม่ใช่คนที่ทานอะไรยากจริงๆ แล้ว ผมเชื่อว่าคนไทย 90เปอร์เซ็นต์สามารถปรับตัวกับอาหารญี่ปุ่นได้อย่างไม่ลำบากเท่าไรครับ
เรื่องน่าแปลกก่อนจะจบตอนแรกนี้
ระบบหลายๆ อย่างที่ประเทศไทยน่าจะทำได้ อย่างประเทศญี่ปุ่น กลับไม่พบเห็นว่ามีโครงการที่รับพัฒนา อย่างเครื่องแมชชีนต่างๆ ตามข้างถนน เช่น เครื่องซื้อเครื่องดื่มอย่างเบียร์ หรือบุหรี่
จังหวะที่ผมพบกับเพื่อนร่วมงานชาวฟิลิปปินส์ที่มาประชุมด้วยกันที่นี่ หยอดเหรียญซื้อของสองอย่างนี้ที่ตู้กด ปรากฏว่าสินค้าไม่ออกมา จนกระทั่งมีคนญี่ปุ่นแถวนั้นเดินผ่านมา จึงขอความช่วยเหลือ ผลที่เกิดขึ้นคือ เขาหยิบบัตรประชาชนของตัวเองมา แนบที่ตัวอ่านบนตู้ สินค้าก็หล่นออกมา เข้าข่ายในเรื่องของ RFID หรือ NFC ที่ทำได้จริง ร่วมกับระบบที่ระบุปีเกิดบนบัตรประชาชน จากทะเบียนราษฏร์ของเขาเลยครับ นับว่าเป็นโครงการนวัตกรรมที่เป็นไปได้ ไม่น่าแปลก แต่เราก็ไม่ทันคิด และก็ไม่เห็นว่าจะมีใครหยิบมาทำในประเทศไทย (ส่วนนี้ไม่แน่ใจแต่ไม่เคยเห็นจริงๆ) เลย เป็นการแก้ปัญหาเยาวชนอีกรูปแบบหนึ่งที่ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม ร่วมกับโจทย์สังคมง่ายๆ ให้ออกมาเป็นรูปธรรม และได้ผลลัพธ์ที่น่าทึ่งในความธรรมดา แสนธรรมดาครับ
สำหรับตอนแรกของผม ชายผู้หลงใหลนวัตกรรม และเทคโนโลยี ที่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเทศญี่ปุ่นก็ขอจบลงตรงนี้ก่อน ในตอนที่สองของเรื่องนี้จะพาไปศึกษาแนวโน้ม และพฤติกรรมของผู้บริโภคในญี่ปุ่น ตลาดของสมาร์ทโฟนที่เติบโต หลายเท่าตัว ประกอบกับการเที่ยวไป เล่าไปแบบเดิมครับ
จบตอนที่ 1: เที่ยวแดนปลาดิบ