
เป็นภาพยนตร์สยองขวัญแนวแปลกๆ สำหรับ In the Mouth of Madness หรือ ผีสมองคนผลงานสุดเจ๋งไว้ลายอีกเรื่องของผู้กำกับ John Carpenter เกี่ยวกับเหตุการณ์แปลกๆ ที่เกิดขึ้นเหมือนในนิยายเล่มหนึ่ง
พูดถึง John Carpenter แล้วคงต้องนึกถึง Halloween (1978) และภาคสอง (1988) กับฆาตรกรโหด Michael Myers ที่ออกมาเล่นซ่อนหาพร้อมมีดทำครัวไล่ล่าคนในบ้าน โดยประเด็นที่ John ตีแผ่ตัวฆาตกรนั้นก็หนีไม่พ้นเรื่องของปมปัญหาทางจิตที่เข้าเกาะกุมเด็กชายธรรมดาๆ ให้กลายเป็นฆาตรกร ดังนั้นการเล่าเรื่องสไตล์ของ John Carpenter จึงมีกลิ่นไอความแปลกปนเข้ามา โดยเฉพาะเรื่อง In the Mouth of Madness เรื่องนี้ ยิ่งแปลกแหวกแนวไปอีกเมื่อ John Carpenter หยิบอิทธิพลของนักเขียนนิยายสยองขวัญชื่อดังในยุคนั้นอย่าง Stephen King มาเป็นแกนนำของเรื่องราว โดยใช้ไอเดียแหวกแนวที่ว่า ถ้านักเขียนนิยายสยองขวัญนั้นสามารถกำหนดทุกสิ่งในนิยาย ให้กลายเป็นเหตุการณ์จริงได้ เรื่องราวจะเป็นยังไง ประมาณว่าเป็นวรรณกรรมของปิศาจ และมีการ หยิบยื่นประเด็นมุมมองของนักอ่านนิยาย ที่มักจะคล้อยตามผู้เขียนผู้แต่ง ประหนึ่งผู้แต่งนิยายคือผู้ที่กุมชีวิต และความคิดของผู้อ่านได้ประมาณนั้น
เรื่องราวของ In the Mouth of Madness เริ่มต้นที่นักสืบเอกชน John Trent รับบทโดย Sam Neill ได้ถูกว่าจ้างให้ตามหาตัวนักเขียนนิยายสยองขวัญที่ชื่อว่า Sutter Cane รับบทโดย Jurgen Prochnow นักเขียนนิยายเรื่องสยองขวัญ ที่มีแฟนคลับมากมายทั่วประเทศที่หลงไหลในเนื้อหาความสยอง ลึกลับที่สมจริง ที่จู่ๆ ก็หายตัวไปอย่างลึกลับในวันที่ต้นฉบับตอนสุดท้ายของนิยายชุดนั้นจะจบ ทำให้แฟนคลับถามหา ต้นสังกัดเห็นท่าไม่ดีเลยต้องหาวิธีเรียกตัว
John Trent ได้สืบหาเบาะแสมากมายจากนิยายของ Cane จนได้พบแผนที่ลับ ที่เกิดจากการเอาปกนิยายของ Cane มาวางเรียงกัน เกิดเป็นแผนที่เมืองเล็กๆที่ชื่อว่า Hobb’s End ซึ่งพอสอบถามไปๆ มาๆ จากหลายๆแหล่งเกี่ยวกับเมือง Hobb’s End นี้ก็ได้สร้างความฉงนให้ John Trent มากขึ้นไปอีก เพราะว่า Hobb’s End นั้นเป็นเมืองที่ไม่มีอยู่จริงในโลกใบนี้ แต่ปรากฏเพียงในนิยายของของ Cane เท่านั้น ดังนั้นมีทางเดียวที่ John จะทำได้ว่าเมืองนี้เป็นเรื่องหลอกหรือเปล่า ก็คือการเดินทางไปพิสูจน์ตามแผนที่ที่ได้มา จนกระทั่งได้พบกับเมือง Hobb’s End เข้า พร้อมๆกับเรื่องราวแปลกๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเมืองๆ นี้ เหตุการณ์มากมายที่สุดหลอน จนกระทั่งได้รู้ความจริงว่า เมือง Hobb’s End และเหตุการณ์ทั้งหมดนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาจากปลายปากกาของ Cane แม้แต่ในช่วงท้ายของเรื่อง ที่ท้าทาย John ว่าถ้าตื่นขึ้นมาทุกอย่างจะเป็นสีน้ำเงิน
โดยรวมการประติดประต่อเรื่องราวของ In the Mouth of Madness นั้นทำได้น่าสนใจ แม้ว่าคนดูนั้นต้องพร้อมที่จะตั้งใจดูเท่านั้นจึงจะเข้าใจ เพราะถ้าพลาดไปเพียงฉากเดียวก็สามารถทำให้ หลุดทะเลไม่เข้าใจเรื่องราวได้ง่ายๆ
ส่วนเรื่องของความน่ากลัวนั้นไม่ใช่ความน่ากลัวแบบแหละ สยองขวัญ โหดแบบที่ Carpenter ถนัดหรอกครับ แต่เป็นการนำเสนอความน่ากลัวแบบหลอนเงียบๆ ไปจนถึงหลอนขนลุกพอประมาณ เช่น มุข ขับรถผ่านคนปั่นจักรยานหลายรอบ สาวที่นั่งมาด้วยลงจากรถ เป็นต้น
ปั่นจักรยานสวนป้า คนนี้หลายรอบ
โผล่แว๊บเดียวเล่นเอาหลอน
โดยรวมถือว่าเป็นภาพยนตร์ปั่นหัวคนดู พร้อมๆ กับตัวละครเอกของเรื่องอย่าง John Trent ให้เริ่มเข้าใจความวิปลาสเบื้องลึกภายในของตัวเอง เช่นตอนจบที่สุดท้าย นิยายก็ได้ทำเป็นหนัง แล้วก็ชี้ไปถึงบทสรุปของวันสิ้นโลกในคำสอนคริสตศาสนาเลยครับ