
ทริปพานักศึกษาในสาขาที่มหาวิทยาลัยเดินทางไปแสดงผลงานที่งาน Siggraph Asia 2016 ที่เขตบริหารพิเศษมาเก๊าแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
ถ้าหากพูดถึงมาเก๊า หรือ เขตบริหารพิเศษมาเก๊าแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้วล่ะก็มักจะนึกถึง คาสิโน การพนันเป็นอย่างแรกจากที่เราเคยได้ยินและได้รับรู้จากเนื้อหาในภาพยนตร์หลายๆ เรื่องที่มาจากฮ่องกง อันที่จริง มาเก๊ายังมีอะไรน่าสนใจอีกมากมากครับ และอาจจะเป็นเมืองที่เหมาะกับการท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนชิลๆ ได้อย่างดีเมืองหนึ่งเลยด้วย บางโซนนี่สุขสบายสงบมากๆ ถ่ายรูปก็สวยอาจจะเพราะสภาพบ้านเมืองของมาเก๊านั้นคลาสสิคครับ ตึกรามบ้านช่อง แม้แต่ชื่อถนนมีความผสมผสานระหว่างจีนกับโปรตุเกส
ทริปนี้เริ่มต้นจาก ทางผมที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่แล้วได้มีโอกาสได้พาตัวแทนนักศึกษาสาขาการออกแบบเชิงโต้ตอบ และการพัฒนาเกม (Interactive and Game Development) และสาขาวิชาวิศวกรรมเว็บฯ (Web Engineering) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นำผลงานไปแสดงที่ส่วนของนิทรรศการ ประเทศไทย ด้านแอนิเมชันและวิชวลเอฟเฟค ภาพยนตร์ และเกม
โดยตัวงานครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมธุรกิจบางกอกเอซีเอ็มซิกกราฟ (Bangkok ACM SIGGRAPH Association) สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ที่เลือกสรรงานแอนิเมชัน งานวิจัยด้านกราฟิก และสื่อดิจิทัลอย่างเกมไปนำเสนอที่เขตบริหารพิเศษมาเก๊า แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน วันที่ 5-8 ธันวาคม พศ. 2559 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเวเนเชียน มาเก๊า (Venetian, Macau)
หลังจากลงจากเครื่องก็มีเวลาอยู่ 2 วันในการเดินชมเมือง และสถานที่เที่ยวสำคัญๆ ในมาเก๊าครับ วันแรกที่เราเดินทางไปถึงเราไปเที่ยวที่ โบสถ์เซนต์ปอล (Ruins of the Cathedral of Saint Paul) สถานที่ที่เรียกว่าซากก็คงไม่ใช่เพราะมันยังสวยและงดงาม เป็นโบสถ์ที่เสียหายจากการถูกไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่ยังหลงเหลืออยู่ของโบสถ์เซนต์ปอล โบสถ์แห่งนี้ที่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 16 โดยมี Landmark โดดเด่นคือประตูด้านหน้าของโบสถ์ที่ทำให้จินตนาการว่า หากโบสถ์แห่งนี้ไม่ได้ถูกทำลายจนเหลือแค่เพียงซากหักพังเช่นนี้ จะมีความยิ่งใหญ่แค่ไหน ทางเดินขึ้นที่เต็มไปด้วยผู็คนมากมายให้บรรยากาศหายเหนื่อยปลิดทิ้ง และพอเราเข้าไปเยี่ยมชมภายในกลับรับรุ้ได้ถึงความขลังอย่างยิ่งครับ
ระหว่างนั้นก็เดินทางไปดูโชว์ 12 นักษัตร ณ โรงแรมแห่งหนึ่งจำชื่อไม่ได้ ก็เลยพานักศึกษาและอาจารย์ไปกราบไหว้ เจ้าแม่กวนอิมปรางค์ทองที่อยู่กลางทะเลครับ, ความโดดเด่นคือเรื่องราวของสถานที่และรูปลักษณ์ขององค์เจ้าแม่กวนอิมครับ เนื่องจาก เป็นรูปปั้นสีทองอร่ามของเจ้าแม่กวนอิมที่โปรตุเกสตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อ เป็นอนุสรณ์ให้กับมาเก๊า ในโอกาสที่ส่งมอบมาเก๊าคืนให้กับจีน เลยมีรูปลักษณ์ที่ใกล้เคียงกับเจ้าแม่กวนอิม แต่ใบหน้าเป็นพระแม่มารี
ต่อมาก็พานักศึกษา ไปทดสอบระบบการทำงานของ Slot Machine และสอนวิชาปรัชญา ด้วยเรื่องของการจะได้สิ่งใดมาย่อมต้องเสียบางอย่างไป ที่คาสิโนลิสต์บัว ครับสำหรับผมเล่นไป 200 เหรียญได้กลับมาก็ 200 เหรียญ ก่อนจะจบวันด้วยการนอนหลับอย่างเพลียสมองกัน เพื่อไปที่งาน Siggraph Asia 2016 ที่โรงแรมเวเนเชียน ซึ่งเราต้องตื่นแต่เช้านั่งรถเมลไปที่งานครับ
เช้าวันทำงาน เราพร้อมกับที่โรงแรมเวเนเชียนครับ อาหารเช้าก็พอถูไถถูกปากพอได้ครับ คนเยอะมากเนื่องจากที่นี่นอกจากจะมีการจัดงาน Siggraph Asia 2016 แล้วยังเป็น คาสิโน อันดับต้นๆ อีกต่างหาก
SIGGRAPH Asia งานนำเสนอผลงานด้านคอมพิวเตอร์กราฟิก และแอนิเมชั่นของเอเชีย
สำหรับงาน SIGGRAPH นั้น แต่เดิมเป็นงานประชุมสัมมนาด้านวิชาการ และการนำเสนอผลงานผ่านนิทรรศการทางด้านคอมพิวเตอร์กราฟิก และแอนิเมชั่น ระดับโลกโดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมงานจากทุกประเทศทั่วโลกกว่า 30,000 คนมาตลอด ที่สหรัฐอเมริกาฯ ช่วงกลางปีระหว่างเดือนสิงหาคมของทุกปีในชื่อ ACM SIGGRAPH ที่ปัจจุบันมีการจัดมาแล้วมากกว่า 43 ครั้ง และได้เกิดเป็นการต่อยอดในภายหลัง
ส่วนของเอเชียในชื่องาน SIGGRAPH ASIA ที่เป็นงานจัดประชุมวิชาการ สัมมนา และนำเสนอผลงานผ่านนิทรรศการของกลุ่มประเทศในเอเชียภายใต้แนวคิด “Key to The Future” เป็นหลัก โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจผ่านการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ และเทคโนโลยีเชิงนวัตกรรมทางด้านคอมพิวเตอร์กราฟิก และผลงานการสร้างแอนิเมชั่น หรือเทคนิคการพัฒนาวิชวลเอฟเฟค สำหรับภาพยนตร์รูปแบบใหม่ๆ ผ่านเทคนิคใหม่ๆ โดยการจัดงานของ SIGGRAPH ASIA นั้นจะมีรูปแบบในการนำเสนอผลงาน และนิทรรศการที่น่าสนใจเหมือนรูปแบบ ACM SIGGRAPH งานใหญ่
โซนหลักของงานที่เป็นส่วนของ Virtual Reality นั้นถูกแยกออกเป็น 2 ส่วนหลักคือ ส่วนของบริษัทที่มีการนำเสนอเทคโนโลยีที่มีภาคการสนับสนุนอยู่ด้านนอกหลังจากเดินเข้าโซนของงาน และส่วนของงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในโซนที่เรียกว่า Experience Zone
การเยี่ยมชมนิทรรศการส่วนของ VR หรือ Experience Zone ในครั้งนี้ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายๆ เรื่อง พร้อมกับเปิดประตูของ “มุมมอง” และ “ความกล้า” ใช่ครับ ผมพูดไม่ผิด ชิ้นงานที่ถูกนำเสนอในงานโซนนี้นั้น ส่วนมากเป็นองค์ความรู้ที่เราสามารถนำไปพัฒนาได้เองอย่างสบาย ในหลายๆ งาน เช่น MV มิวสิควิดีโอผ่าน VR ที่ถ่ายทำด้วยกล้องถ่ายภาพยนตร์ 360 องศา และแทรกวิชวลเอฟเฟคลงไป เป็นงานที่ “ง่ายสุดๆ” และ “สร้างสรรค์สุดๆ” ที่นักพัฒนาอย่างผมเอง และลูกศิษย์คิดไม่ถึงกัน
หลังจากออกงานหมดวันแล้วก็ได้เวลาหาที่ทานข้าวกัน ทางทีมจัดงานแนะนำให้เราไปที่ ไทปา (Tai-Pa) ครับ
ไทปา เหมือนเป็นโซนอนุรักษ์ของเกาะมาเก๊าประมาณแบบพิพิธภัณฑ์เมื่อวันวานของบ้านเรา ที่คงวิธีชีวิตเก่าๆ ย่านเก่าๆ เอาไว้เป็นจุดขาย โดยรวมเป็นสถานที่น่าสนใจแห่งหนึ่งถ้าต้องการวิวสวยๆ อาหารท้องถิ่น (Local) อร่อยๆ มุมถ่ายรูปสวยๆ สงบๆ อีกทั้งใกล้ป้ายรถเมลครับ
วัดอาม่า
นั่งรถเมลไปไกลหน่อยแต่ก็โอเคครับ วัดอาม่า เป็นวัดเก่าแก่ที่สุดในมาเก๊า ที่หลายๆ เป็นวัดที่สร้างขึ้นเพื่อถวายให้กับอาม่า เทพธิดาแห่งท้องทะเลอันศักดิ์สิทธิ์ ที่คอยช่วยปกปักรักษาชาวประมงให้เดินเรือกันอย่างปลอดภัย จึงเป็นวัดที่ชาวมาเก๊าให้ความเคารพเป็นอย่างมาก ได้ข่าวว่าส่วนมากมาขอโชค และลูกกัน
ดูจากการห้อยกระพรวนสีแดงในวัดแล้วก็มีคนไทยมาเที่ยวเยอะเหมือนกันครับ
ถามว่าช่วงกลางคืนมีที่ไหนน่าเที่ยวไหม ถ้าตัดพวกสถานบันเทิงไปก็ เชนาโด้สแควร์ (Senado Square) ครับ อันที่จริงช่วงกลางวันก็สามารถมาเดินได้ครับ เป็นหนึ่งในที่เที่ยวมาเก๊าที่คนมาถ่ายรูปมากที่สุดที่หนึ่งเลย มีบาร์เล็กๆให้ แฮงค์เอาท์กันด้วย
ระหว่างทางเดินกลับมาก็มีงาน Macau Light Festival 2016 อีกต่างหาก ก็ถือว่าโชคดีไปครับได้มางานอะไรไม่คาดฝันแบบนี้สวยดี มาเยี่ยมชมนิทัศน์การจัดแสงนีออน
วันสุดท้ายพวกเรากลับไปที่งาน Siggraph Asia 2016 เพื่อนั่งบริการข้อมูลให้กับผู้ที่สนใจครับ และมีโอกาสได้เข้าไปฝังบรรยาย และดูภาพยนตร์ดิจิทัล เป็นแอนิเมชั่นสุดเจ๋งใน Computer Animation Festival, Electronic Theater ในช่วงวันหลังๆ ที่เราทำงานกันเสร็จแล้ว และพอมีเวลาในการเดินในงาน Electronic Theater
เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่ชอบการออกแบบ และสร้างแอนิเมชั่น เพราะแต่ละเรื่องที่ถูกนำมาฉายนั้นล้วนมีการผสมผสานเทคนิคดิจิทัลทุกรูปแบบเข้ากับการเล่าเรื่องแบบสากลที่เราต้องทึ่ง ผลงานที่น่าสนใจคือ The Tiger; An Old Hunter’s Tale (th Creative Party (VFX Studio), Hoon-Jung Park(Film Director), The Deer Flower (ของเกาหลี) และ Schirkoa (ผลงานของ Ishan Shukla จากประเทศอินเดีย) เป็นต้น
ส่วนของการบรรยาย ประชุมวิชาการเป็นหน้าที่ของนักศึกษาปริญญาโท และอาจารย์อย่างพวกผมต้องเข้าฟัง เนื่องด้วยเวลาที่จัดชนกันหลายๆ หัวข้อ ทำให้เสียดายบางหัวข้อที่ได้เข้าฟังอยู่พอดู โดยการเข้าฟังนั้น ผมเลือกเข้าฟังที่หัวข้อ Achieving Photoreal Virtual Humans in Movies, Games and Virtual Reality โดย Paul Debevec, ตำแหน่ง Senior staff engineer ของ Google VR กับ VR Capture: Designing and Building an Open Source 3D-360 Video Camera โดย Brian Cabral, Director of Engineering จาก Facebook ส่วนนักศึกษาปริญญาโทของผมเลือกเข้าฟังที่หัวข้อ Guest Education Workshop: SQUARE ENIX AI ACADEMY: AI Workshop for Decision Making System โดย Youichiro Miyake, SQUARE ENIX CO., LTD โดยส่วนที่น่าสนใจที่สุดคือ เทคโนโลยีของการสร้างสตูดิโอสำหรับสร้าง Virtual Reality ให้กับแผ่นฟิลม์ภาพยนตร์ ซึ่งก็เป็นการบอกให้เราทราบว่า VR นั้นไม่ได้หมายถึงอุปกรณ์ แต่หมายถึงกระบวนการสร้างสภาพแวดล้อม หรือบุคคลจำลองด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิก
ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ การประมวลผลสร้างใบหน้าของบุคคลต้นแบบออกมาเป็น โมเดล 3 มิติที่มีความคมชัดสูงใกล้เคียงคนจริงๆ หากว่าเราไม่ทันสังเกตุ โดยตัวอย่างที่ถูกหยิบยกมานั้นคือ ภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง Fast & Furious 7 ที่มีการนำใบหน้าของ Paul Walker ผ่านการทำ CGI หรือใบหน้าบางตอนของบารัค โอบามา ที่แทบแยกไม่ออกว่าที่เราเห็นบุคคลเหล่านี้ออกถ่ายทอดสดแถลงข่าวอยู่นั้นคือ ตัวจริงหรือ CGI กันแน่?
ก็กลายเป็นว่าเป็นอีกทริปที่พานักศึกษามาดูงานแล้วได้ประสบการณ์กันไปทั้ง ครู ทั้ง นักศึกษานั่นแหละ อย่าถามนะครับว่าเล่นคาสิโนได้เยอะไหม?