Onibaba (1964) หน้ากากปิศาจ การเมือง ทุ่งสังหาร และ สัญชาตญาณทางเพศ

ผลงานสยองขวัญท้าทายความคิดของผู้กำกับ Kaneto Shindô กับ Onibaba ภาพยนตร์สยองขวัญขาวดำ สัญชาติญี่ปุ่น ที่นอกจากความสยองแล้ว ยังมีแง่มุมประเด็นซ่อนไว้มากมาย
ภาพยนตร์ Onibaba นั้นมีเรื่องราวอยู่ในฉากหลังของ ประเทศญี่ปุ่นสมัยสงครามการเมือง ช่วงศตวรรษที่ 14 คนในชาติมีแง่มุมที่แตกต่างกันด้วยเรื่องของอุดมการณ์ จึงเกิดการฆ่าฟันกันเองเกิดเป็นสงครามที่มีแต่ผู้แพ้ (เหมือนประเทศอะไรนะ?) ระหว่างที่มีการฆ่าฟัน ก่อเกิดสงครามนั้น เหล่าซามูไร และทหารมากมายที่บาดเจ็บสาหัส ก็มักจะระหกระเหิน หนีตายไปยังเส้นทางนอกแผนที่
เส้นทางที่ทหาร หรือซามูไรผู้บาดเจ็บเหล่านั้นต้องผ่านไปมาบ่อยๆ คือ หมู่บ้านกันดานในป่าต้นกก รกทึบ ความหวังในเรื่องที่พัก และอหารของทหารเหล่านั้นน่าจะมาจาก หญิงชรา และ หญิงสาวที่มีศักดิ์เป็นลูกสะใภ้ของเธอ ที่คอยทำมาหากินอยู่ในดินแดนรกร้างแห่งนี้ แต่ความหวังที่ว่านั้นก็ดับวูบไป
หญิงชรา (Nobuko Otowa) และลูกสะใภ้ (Jitsuko Yoshimura) ของเธอนั้นมีอาชีพที่สามารถประทังชีวิตของตนเองเป็นหลักคือการ ขายอุปกรณ์เช่นอาวุธ และชุดเกราะจากศพของทหารที่ตายไปแล้ว…
แน่นอนว่า ทหารที่บาดเจ็บเดินทางผ่านไปทางนั้น ก็คงไม่น่าจะรอด เป็นการตีแผ่สัญชาติญานการเอาตัวรอดของมนุษย์ได้ดีที่สุดอย่างหนึ่ง ว่าในภาวะของความอดอยาก การฆ่าคนเพื่อแลกกับเงินนั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำเมื่อจำเป็น ศพแล้วศพเล่ามักจะถูก ผู้หญิงทั้งสองโยนลงในหลุมดำที่ไม่รู้ว่าลึกเท่าไรที่อยู่ใจกลางป่าต้นกก แห่งนั้น
จนกระทั่งการเข้ามาของชายหนุ่มคนหนึ่ง ที่สั่นคลอนความสัมพันธ์ของหญิงทั้ง สอง
ผู้ชายที่หนีตายเข้ามานั้น เป็นเพื่อนของ Kichi ลูกชายของหญิงชรา วิ่งมาบอกข่าวว่าลูกชายของเธอถูกคนสังหารไป โดยที่ตนไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ ความโศกเศร้าเกิดกับผู้เป็นแม่เกินจะบรรยาย
เหตุการณ์ของ “กรรม” ยังคงเล่นตลกเมื่อ เพื่อนชายของสามีคนนี้ไม่พบเจอผู้หญิงมานาน ประกอบกับ ผู้สะใภ้เองก็ห่างสามีมานาน ประกอบกับสามีก็เสียชีวิตไปแล้ว ทั้งคู่เริ่มมีความรู้สึก “อยาก” (ไม่ใช่ความรัก) เป็นเพียง แรงปรารถณาที่มาจาก สัญชาติญาณทางเพศล้วนๆ อย่างที่บอกว่า มันคือ ความ “อยาก” ล้วนๆ (คันก็ได้)
เมื่อหญิงชรา แม่สามีเริ่มรู้สึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับ คนทั้ง 2 ก็เริ่มรู้สึกว่า เสียลูกชายไปแล้ว ยังจะต้องสูญเสียลูกสะใภ้ ที่เป็นเพียง “เพื่อน” และ “ผู้ร่วมมือ” เพียงคนเดียวในชีวิตไปอีกหรือ
ประกอบกับการปรากฏกายของ ซามูไรที่สวมหน้ากากปิศาจที่เข้ามาพบกับ หญิงชราเข้า ที่แม้จะสะท้อนว่า ปิศาจในคราบมนุษย์นั้นโหดเหี้ยมแค่ไหม แต่ปิศาจอย่างซามูไรปิศาจเองก็ยังต้องพ่ายแพ้ให้กับพิษของสตรีเพศ การสร้างเรื่องผี การพูดถึงนรก การพูดถึงบาปของการผิดประเวณี ผิดลูกผิดเมียคบชู้ ออกมา กระตุ้นให้สะใภ้ของตัวเองให้รู้สึกกลัว แม้กระทั่งในตอนท้ายของเรื่องที่ หญิงชรานั้นต้องกลายเป็นปิศาจร้ายเสียเอง
ภาพยนตร์เรื่องนี้แม้จะเป็น ภาพยนตร์ ขาว ดำ แต่การถ่ายทอดแสงเงา ที่สวยงาม ประกอบกับซีนถ่ายทอดอารมณ์จากนักแสดงทั้งหมดก็ได้โอบอุ้มความ อำมหิต ที่มาจากก้นบึ้งของสัญชาตญาณ ความแค้น ความปรารถนา ซึ่งนั่นคือ แรงขับทาง “เพศ” ตามทฤษฏีของ ฟรอยด์ นั่นเอง ซ้ำร้าย Onibaba ยังคงเปรียบเปรยเรื่องของประเด็นการเมือง ที่มีแต่ผู้แพ้
สัญลักษณ์ของทุ่งสังหาร หลุ่มดำ ปริศนาที่เหมือนจิตใจความรั่วร้าย รุนแรงในสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ที่ เรานั้นไม่มีทางรู้ว่า หลุมดำหลุมนั้นลึกแค่ไหน
คะแนน 8/10