
ผลงานคลาสสิคระทึกขวัญปี 1954 อย่าง Alfred Hitchcock กับ Rear Window เรื่องราวของนักข่าวที่พักฟื้นในบ้าน สอดส่องมองเพื่อนบ้านผ่านหน้าต่างจนเจอเรื่องระทึกขวัญ
ก่อนจะเข้าเรื่องหนังผลงานกำกับของผู้กำกับในดวงใจ ที่ความเก่าของหนังไม่ใช่อุปสรรคในการรับชมแต่อย่างใด เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกเปิดในคลาสวิจารณ์วรรณกรรม ภาควิชาปรัชญา ตอนที่เรียนปริญญาตรีอยู่นั้นได้ดู แล้วถกเถียง เพียงแค่ไม่มีอะไรไปกระตุ้นความจำเท่านั้น เพราะดันจำสิ่งที่เบาบางที่สุดอย่างเรื่อง Matrix และ Death Poet Society มากกว่า แต่สุดท้ายพอหาหนังเก่าๆ ตามเว็บมาดูก็จำได้ทันที ว่า Rear window นั้นคืองานสร้างอันดับแรกๆ ของ Alfred Hitchcock ในฐานะผู้กำกับที่พร้อมจะปล่อยของ ทำให้ Rear Window กลายเป็นหนังที่มากกว่าคำว่า “ไอเดีย” และมาก่อนกาลสมัย
ประเด็นหลักของเรื่องถ้าให้เล่าเบาๆ ก็คือ L.B. Jefferies หรือ Jeff ตัวเอกของเรื่อง รับบทโดย James Stewart ตากล้องนักข่าวที่บังเอิญบาดเจ็บจากการถ่ายภาพงานแข่งรถทำให้ขาหักต้องเข้าเฝือกในห้องอพาร์ทเมนต์หลายวัน ก็เลยหยิบกล้องส่องทางไกลมาฆ่าเวลาโดยการ ดูวิว และสอดส่องเพื่อนบ้านฝั่งตรงข้ามว่าแต่ละคนมีกิจวัตรอะไรทำ อะไรบ้าง จนกระทั่งไปสงสัยในพฤติกรรมของ Lars Thorwald รับบทโดย Raymond Burr ที่เหมือนชายคนนี้กำลังจะวางแผนฆ่าภรรยาที่นอนป่วยบนเตียง จากรูปการณ์หลายๆ อย่างทำให้ Jeff ต้องพึ่งพา แฟนสาวของเขา Lisa Carol Fremont รับบทโดย Grace Kelly และนางพยาบาลของเขา Stella ช่วยเหลือในการแก้ไขสถานการณ์นี้ให้ทันการณ์
ดังนั้น สิ่งที่หนัง Rear Window จะเล่นกับคนดูจริงๆ นั้นคือ เรื่องของการรับรู้
การรับรู้ หากให้ตีความหมาย ก็น่าจะหมายถึงการที่เรารู้สึก หรือได้สัมผัส เมื่อเกิดการสัมผัสก็จะมีการตีความให้เกิดความหมายมากมายจากสิ่งที่ผ่านมาจากชีวิต และประสบการณ์ของเรา เช่นในขณะนี้ เราอยู่ในภาวะการรู้สึก หรือที่เรียกว่า Conscious แปลว่าภาวะของการลืมตาตื่นอยู่ รับรูได้เต็มที่ ทันใดนั้นเราก็ได้ยินเสียงระเบิด “ปัง” มาแต่ไกล นั่นคือการรู้สึกสัมผัส หรือ Sensation
เราไม่มีทางรู้หรอกครับว่าความหมายคืออะไร ไม่มีทางรู้ว่าเกิดจากอะไร เกิดได้ยังไง ก็จะอยู่ในภาวะสงสัย ดังนั้นเป็นไปได้ว่าเรายังไม่เกิดการรับรู้กับเสียงดัง “ปัง” เสียงนั้น แต่ถ้าสักพักมา มีคนบอกกับคุณว่า เสียงดังกล่าวเป็นเสียงยางรถระเบิด เราถึงจะเกิดการ รู้ความหมายของการรู้สึกสัมผัสสิ่งนั้นได้ว่า “ยางรถ+เกิด+ระเบิด” สิ่งเหล่านี้เราเรียกว่าการรับรู้ครับ
การรับรู้ที่หนังเรื่องนี้ มอบให้กับผู้ชมคือ ความระทึก ที่เรารู้สึก แต่ ยังไม่รับรู้จนกว่าจะเกิดขึ้น โดยกว่ามันจะเกิดนั้นเราคาดเดาไม่ได้ ฉากที่น่าทึ่งคือ ผู้ชมอย่างเรา และ Jeff รู้ว่า แฟนสาวอย่าง Lisa กำลังเข้าไปในห้องของ Lars เพื่อค้นหาหลักฐานจับผิด ขณะที่ชายคนนั้นไม่อยู่ แต่ก็จะมีจังหวะที่เรารู้ว่าเค้ากำลังเข้ามาใกล้ๆ ความกังวลใจในการเอาใจช่วยก็เกิดขึ้น
แม้ว่าเทคนิคสมัยนั้นอาจจะไม่บีบหัวใจเท่ากับภาพยนตร์สมัยนี้ แต่ถ้าให้ย้อนกลับไปดูแล้ว เทคนิคของการทำหนังบีบหัวใจนั้น Alfred Hitchcock ได้พาสิ่งเหล่านี้มาก่อนกาลสมัยของมันใน Rear Window ครับ
ดังนั้นภาพยนตร์ระทึกขวัญ คลาสสิคเรื่องนี้จึงกลายเป็น มาสเตอร์พีชของคนดูหนังแน่นอน ถ้าหากว่าคุณชอบหนังเก่าแบบผมนะ
คะแนน 7.5/10