The Ballad of Narayama (1983) โศกนาฏกรรมพิพาทสังคม

[ในเนื้อหามีการเปิดเผยเนื้อเรื่อง] ภาพยนตร์เรื่อง The Ballad of Narayama ผลงานกำกับสุดอาร์ทของ Shohei Imamura ที่จะพาเราไปตีแผ่ธรรมเนียมคนหมู่มากกับเรื่องจริยะธรรม
อันที่จริงภาพยนตร์เรื่องนี้มีเวอร์ชันเดิมเมื่อปี 1958 (ประมาณนั้น) แต่ตัวเวอร์ชันของปี 1983 นี้ถือว่าเป็นเวอร์ชันที่น่าจะหยิบมาดูกัน เนื่องจากเป็นการยกประเด็นความต่ำต้อยของจริยธรรมของสังคมญี่ปุ่นสมัยก่อนมาเล่นให้คนดูอย่างเราได้อึ้งกับภาพที่ปรากฏ บีบหัวใจกับเหตุการณ์ที่ได้ชม ซ้ำยังพาเศร้าใจในบทสรุปตอนท้าย
ส่วนตัวแล้วไม่แปลกใจเลยที่ The Ballad of Narayama นั้นได้รางวัลปาล์มทองคำเมื่อคานส์มา ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จุดเด่นของภาพยนตร์เรื่องนี้คือเรื่องของเนื้อหาที่หนักอึ้ง ฉากร่วมเพศ หรือฉาก Sex ที่ถูกออกแบบมาอย่างสวยงามลงตัว ยกนิ้วให้กับผู้กำกับศิลปเลยทีเดียว
เนื้อเรื่องของ The Ballad of Narayama นั้นเกิดขึ้นในยุคสมัยเอโดะประมาณนั้น เราจะพบกับแนวทางการดำเนินชีวิตของสังคมหมู่มาก ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ตั้งแต่ หญิงสาว ที่มีสามีแล้ว หากว่าสามีตายไป ถือว่าต้องสาป และจำเป็นต้องหาชายที่เหมาะสมที่สุดมาเป็นผู้รักษาความเชื่อของหมู่บ้านก็คือต้องให้ชายโสดทั้งหมู่บ้านมานอนด้วย ซึ่งตัวผู้หญิงจะรู้สึกผิดอะไรไหม จะถูกคนตราหน้าว่าเป็นโสภาณีหรือไม่ นั่นไม่ใช่เรื่องที่เธอต้องกังวล ทุกคนไม่ว่าอะไรเธอเพราะนั่นคือธรรมเนียมของหมู่บ้าน และการแก้คำสาปด้วยวิธีนั้นก็คือสิ่งที่สังคมตั้งกฏเกณฑ์มา ซ้ำถือว่าเป็นการค้นหาคนที่จะมาเป็นสามีคนต่อไปก็ยังได้
ภาพศิลปทั้งหมดถูกถ่ายทอดผ่านการร่วมเพศของสัตว์ นานาชนิด เทียบเคียงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากอารมณ์อย่างการมี Sex นั้นก็คือธรรมชาติที่ทุกชีวิตล้วนมองว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องดำเนิน แล้วเราจะไปอายทำไม
หรือแม้กระทั่ง ธรรมเนียมการลงโทษคนที่ชอบขโมยของ โดยการจับทุกคนในครอบครัวมาฝังทั้งเป็น แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดูโหดร้าย ไม่มีจริยธรรม แต่คนในหมู่บ้านก็ไม่เห็นว่ามันสำคัญตรงไหนเพราะทั้งหมดที่ทำไปก็คือ ธรรมเนียม หรือ สังคมนำพา
และคุณจะได้พบกับฉากแปลกๆ มากมายทั้ง
- ฉากหญิงสาวคนหนึ่งมีอะไรกับหมาข้างบ้าน เพราะเป็นเด็กมอซอ จรจัด เป็นเด็กเก็บมาเลี้ยงไม่มีใครอยากเข้าใกล้ (ฉากดังกล่าวไม่น่าเกลียด)
- ฉากหญิงชราเอาปากโขกหินจนฟันร่วง เพื่อที่จะได้กินข้าวน้อยลง ประหยัดอาหารให้ลูกๆ หลานๆ
ทั้งหมดนั้นคือกิมมิกที่เราจะได้พบผ่าน The Ballad of Narayama ส่วนเนื้อเรื่องแกนหลังนั้นกลับเป็นเรื่องของคุณยาย Orin และลูกชาย คุณยาย Orin มีอายุ 69 ปีสามารถทำงานหนักๆ ได้ไม่มีปัญหา แต่เพราะว่าช่วงเหตุการณ์ของยุคนั้นเกิดภาวะแห้งแล้งข้าวยากหากแพง อาหารการกินก็เลยจำกัดทั้งหมู่บ้าน จนกระทั่งกฏของหมู่บ้านเองก็มีการบอกถึงวิธีการแก้ปัญหาขาดแคลนอาหาร นั่นคือการจำกัดคนชราในหมู่บ้านโดยการให้ลูกหลานนำไปปล่อยไว้บนภูเขาอุบะสุเทะ
จุดนี้ พาดพิงมาจากเรื่องจริงในช่วงที่ญี่ปุ่นเกิดภาวะแห้งแล้งขาดแคลนอาหารติดต่อกันหลายปี เจ้าเมืองในหลายๆ เมืองได้มีการออกกฏธรรมเนียมมาว่า ครอบครัวไหนมีพ่อแม่ที่อายุเกิน70 ปี แล้ว ผู้ที่เป็นลูกจะต้องนำพ่อแม่ไปทิ้งบนเขา ไม่เช่นนั้นจะมีการทำโทษตั้งแต่ โทษรุนแรงไปจนถึงประหารชีวิต ธรรมเนียมดังกล่าวได้ให้มุมมองว่าผู้สูงอายุนั้นเป็นกลุ่มคน หรือสมาชิกในครอบครัวที่ไม่สามารถทำประโยชน์ หรือทำงานได้นอกจากเป็นภาระให้กับลูกหลาน และเพื่อนบ้าน
อีกทั้งกฏธรรมเนียมเหล่านี้มองว่าการตายของพ่อแม่ที่ชราเพื่อให้ลูกหลานไม่อดตายจากการขาดแคลนอาหารถือเป็นเรื่องที่มีเกียรติสูงส่ง ภูเขาในยุคนั้นหลายแห่งก็ได้กลายเป็นสุสานสำหรับพ่อแม่ที่แก่ชราของหลายๆบ้าน ซึ่งชาวญี่ปุ่นเรียกภูเขาเหล่านี้ว่า “อุบะสุเทะ”
เมื่อถึงเวลาที่ลูกชายคนโต ที่ส่วนตัวแล้วไม่ต้องการแบกแม่ขึ้นไปทิ้งไว้บนภูเขา แต่ถูกสังคมบีบเค้นให้ทำ ผู้เป็นแม่ก็ยินยอมแต่โดยดีโดยบอกลูกชายว่าไม่ต้องคิดอะไรมาก
ตลอดเส้นทางในตอนกลางๆ ท้ายๆ ของเรื่อง ลูกชายต้องแบกแม่ไปบนเขา ทำตามกฏเกณฑ์ ห้ามทักพูดคุยกันเพราะเทพเจ้าของหมู่บ้านจะไม่พอใจ เมื่อครั้งที่ทิ้งผู้เป็นแม่เสร็จแล้วต้องห้ามเหลียวมองกลับมา เมื่อถึงยอดเขาที่เต็มไปด้วย ซากศพของคนแก่ที่ถูกนำมาทิ้ง ผู้เป็นลูกต้องทิ้งแม่ไว้ ผู้เป็นแม่ก็บอกให้วางทิ้งไว้ที่นี่ ไม่ต้องห่วง อีกทั้งยังเอาข้าวปั้นของตัวเองที่เป็นเสบียงใส่ให้ลูกชายเอากลับไประหว่างทางที่ปีนเขาขึ้นมาเพราะกลัวลูกจะหิว
ทุกอย่างช่างโหดร้ายเสียจริง
ความโหดร้ายยังคงไม่ลดละต่อคนดู ขณะที่เดินทางลงจากเขา ลูกชายก็ได้พบกับครอบครัวหนึ่งเพื่อนบ้านที่จะเอาพ่อที่แก่แล้วขึ้นมาบนภูเขาเช่นกัน แต่พ่อของเพื่อนบ้านไม่อยากจะตาย ดิ้นรนขัดขืนผู้เป็นลูกต้องมัดเชือกลากไถขึ้นไป จนสุดท้ายต้องผลักตกหน้าผาไปซะเพราะกลัวเป็นภาระ
หนำซ้ำเมื่อกลับไปบ้านยังต้องไปเจอลูกชาย (หลาน) วัยรุ่นของตัวเอง เอาผู้หญิงมาอยู่ที่บ้าน กินอยู่ ด้วยชุดเสื้อผ้าของผู้เป็นแม่ โดยไม่สนใจใยดีว่าเสบียงจะหมดไปหรือไม่อย่างไร
ทุกอย่างจบลงด้วยความเงียบงัน
สิ่งที่ทำไปนั้นถือว่าเป็นธรรมเนียม ของคนหมู่มาก หากไม่ทำตามก็กลายเป็นเราไปฝืนข้อกำหนดเหล่านั้นซึ่งอาจจะมีผลเสียต่อคนทั้งหลายที่เชื่อในเหตุผลที่สังคมบ่มมาให้
ทั้งหมดคือโศกนาฏกรรมจาก สังคมที่ทำให้ผู้ชาย และแม่ชราคนหนึ่งต้องยอมทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องนัก แต่ก็เพื่อให้คนทั้งหมู่บ้านหรือ สังคมหมู่มากนั้นดำรงอยู่ต่อกันได้
ทั้งที่มันเป็นเรื่องที่จำเป็นหรือไม่นั้น ก็อยู่ที่พวกเราตีความครับ
มนุษย์คนไหนกันที่จะทิ้งพ่อแม่ของเราไว้บนภูเขาได้โดยไม่รู้สึกอะไร…
คะแนน: 8.5/10
หนังน่าสนใจดีครับ ทำให้คิดถึงเรื่องลักษณะมาตรฐานศีลธรรม ตามวัย – ตามสังคม (ขนบ ค่านิยม).
Pre conventional (ช่วงก่อนสังคม) ลักษณะของเด็ก ที่ใช้มาตรฐานศีลธรรมในเชิงไม่รู้ความหมาย พอทำอะไรถูก ก็รับคำชม จากพ่อแม่ พอทำผิด ก็ถูกลงโทษ การใช้ความคิดรับผิดชอบชั่วดียังไม่มี เป็นแค่การกลัวการถูกลงโทษ หรือชอบลักษณะของรางวัลในการทำสิ่งต่างๆเท่านั้น.
Conventional ช่วงตามสังคม เช่น วัยรุ่น เมื่อเริ่มเข้าสังคมก็จะรับอิทธิพลของคนรอบตัว ความดี ความเลว จะใช้ขนบสังคมเป็นหลัก มักไม่ฝืนกระแสสังคม ไม่ตั้งคำถามกับค่านิยม.
Post Conventional ช่วงเติบโต หลังจากผ่านกระแสของสังคม วัยรุ่นก็จะเริ่มใช้เหตุผลที่ผ่านการฟัง คิด กลั่นกรองหลายชั้น อาจเลือกทำสิ่งที่แย้งกับขนบสังคม หรืออาจทำสิ่งต่างๆตามสังคมก็ได้ แต่การกระทำนั้น ไม่ได้ทำตามๆกันไป แต่เกิดจากการคิดกลั่นกรองมาจากเหตุผลของตน.
การตีความแบบแรก : หนังเรื่องนี้ก็คือตัวอย่างของ Conventional ที่ไม่อาจก้าวข้ามไปสู่ Post Conventional.
อะไรคือสาเหตุของการก้าวข้ามไม่ได้
1 คนในหมู่บ้านที่ปราศจากความสงสัยในขนบเดิม ทีทำกันมา.
2 การขาดความรู้ ไม่รู้ว่าขนบของหมู่บ้านอื่นเป็นอย่างไร ทำให้มีโลกทัศน์เพียงมุมเดียว คือเห็นแค่ขนบของหมู่บ้านตนคือแนวทางเดียว.
3 ความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงขนบ หรือการย้ายสังคม.
4 censorship เมื่อมีวิธีการลงโทษผู้แย้งขนบ นั่นคือสิ่งที่ตั้งเป็นกฎหมายของหมู่บ้าน เด็กที่โตมาในสังคมแบบ censorship กับเรื่องนึง พอเริ่มตั้งคำถามแล้วถูกคนรอบตัว ถูกกฎหมายประนามว่ากำลังทำผิด เด็กย่อมเรียนรู้แบบ pre conventional / conventional ว่านี่คือ สิ่งที่ไม่ควรทำ แบบที่ไม่เข้าใจเหตุผลที่แท้จริง.
นานๆไปเด็กคนนี้ก็กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ self censorship ตนเอง คือไม่กล้าตั้งคำถามกับความเชื่อสังคม(ซึ่งกลายเป็นของตนไปแล้ว) แม้มันจะจริงเพียงใดก็ตาม พอเด็กคนนี้กลายเป็นผู้ใหญ่ เมื่อมีเด็กรุ่นหลังมาตั้งคำถาม ผู้ใหญ่คนนี้ก็จะกลายเป็นส่วนนึงของการพยายาม censor เด็กรุ่นใหม่ กลายเป็นการทำซ้ำขนบเดิมแบบไม่รู้จบ.
ในวัฒนธรรมสังคมแบบที่เจริญแล้ว เรื่องที่สังคมจะต้องมีจึงเป็นเรื่องของการยอมรับ Dialectic เปิดให้ถกเถียงกันได้ โดยไม่โกรธแค้นหรือใช้อารมณ์ หรือวนเวียนแต่กับการยึดติดบุคคล จนทำลายหลักการ คนที่ยึด Thesis เดิม ก็มีสิทธิยกเหตุผลมาสนับสนุนความคิดตน ขณะที่คนอีกกลุ่มที่ยึด AntiThesis ก็มีสิทธิในการนำเสนอความเห็นหักล้าง จากนั้นก็ร่วมกันหา Synthesis เพื่อมาเป็นแนวคิดพัฒนาใหม่ร่วมกัน โดยไม่ต้องเคียดแค้นต่อกัน.
– การพยายามลด censorship จึงเป็นเรื่องสำคัญ (แต่ไม่ได้หมายความว่ามีสิทธิที่จะกล่าวร้ายคนอื่นด้วยคำโกหก) แต่คือสิทธิในการแสดงความเห็นจากมุมต่างๆ บนพื้นฐานของความจริง.
– การที่คนในหมู่บ้านจะต้องหัดเป็นผู้ฟัง ที่ยอมรับฟังผู้คิดต่าง (อย่างพยายามเข้าใจในสิ่งที่เขาจะสื่อ ไม่ใช่ฟังความข้างเดียว หรือตัดสินเอาเองโดยไม่ฟังว่าคนคิดต่างคิดอะไร).
ประเทศไทยยังอีกไกล เพราะยังไม่รู้จักวิพากษณ์วิธี ยังติดกับ Conventional และยังติดกับการยึดมั่นกับบุคคล แทนที่จะถกกันเรื่องหลักการ ยังติดกับลักษณะศาลเตี้ย หรือการพยายามใช้ความรุนแรงมากกว่าจะเอาเหตุผลมาคุยกัน.
ชักยาวแหะ ตีความพื้นฐานแค่นี้ก่อนดีกว่า – –
ขอบคุณสำหรับความเห็นที่ละเอียดมากครับ อยากจะเชิญมาเขียน Blog รีวิวหนังอาร์ตด้วยกันจังเลย แต่ไม่มีตังค์ให้ อิอิ – ยังไงก็ขอบคุณครับ
เขียนดีครัพ…น่าติดตามเชียว