
ถ้าขนบหนังแนว Chickflick, Coming of Age หรือ ตัวละครหลากหลายรูปแบบ Stereotype นักกีฬา ขี้ยา สาวสวย แปลกแยก ต้นกำเนิดขนบนี้มาจาก The Breakfast Club (1985)
ก่อนจะรีวิว The Breakfast Club อาจจะนอกเรื่องสักหน่อย ช่วงหลังได้มีโอกาสที่ต้องคลุกคลีกับเด็กนักศึกษาในที่ปรึกษาของตัวเอง คณะของตัวเอง และเด็กต่างคณะที่หลากหลาย แต่ก็โชคดีที่หาอะไรสนุกทำคือรวมทีมไปแข่ง Startup Idea หรืองาน Contest มากมาย ก็สนุก และได้อยู่ฟังเหล่าปัญหาของเด็กที่เราปั้น (ใช้คำนี้แหละ เพราะใครที่มีวิชา มีโปรเจ็คอะไรไปส่งได้คือ ต้องทำได้ก่อนจากการฝึกเคี่ยวกรำ สอนนอกเวลา) ซึ่งแต่ละคนที่ทำได้ผมก็กล้าพูดว่า ถ้าให้สอนก็ต้องทำเป็น นั่นคือสายตาของผู้ใหญ่แบบผม แต่ตรงกันข้าม ผู้ใหญ่บางกลุ่มกลับมองว่าเด็กบางคน หรือหลายคนในกลุ่มนี้ ก็ให้แฟนทำให้บ้าง จ้างคนอื่นทำบ้าง รู้ไม่จริงหรอก ผู้ใหญ่ประเภทที่คอยแต่พ่นพิษ(ทั้งที่ตัวเองทำไม่ได้เลย, ที่เด็กอธิบายงานได้หมดเพราะเค้า) เด็กๆ กลุ่มนี้ที่ดูแลนอกจากจะมีปัญหาที่ต้องอยู่กับ ทัศนคติที่ลบและคำพูดเป็นพิษของผู้ใหญ่แบบนี้แล้ว ชีวิตส่วนตัวพวกเขาก็มีปัญหาใช่ย่อย ทำให้กลุ่มเด็กประกวดที่อยู่กับผมในโครงการ After Class (ห้องเรียนนอกเวลา อยากเรียนอะไรก็บอกมาจะสอนหมดขอแค่อยู่กัน 5 คนขึ้นไป) กลุ่มนี้ผมขอตั้งชื่อเหมือนหนังเรื่องนี้ The Breakfast Club เพื่อเป็นการคารวะให้กับ Stereotype ของเด็ก Gen นี้ที่ต้องเข้าใจพวกเขา…
The Breakfast Club เป็นภาพยนตร์ที่ครั้งหนึ่งสมัยเป็นวัยรุ่นเคยดูในช่องเคเบิล สมัยนั้นยังคงไม่เข้าใจและมองว่าหนังทุนต่ำแบบนี้สนุกตรงไหน จบแล้วจบ ก็แค่การเอาตัวละครมาพล่ามพูดใน 1 วันก่อกวนกันไปมา แล้วก็เข้าใจกัน
The Breakfast Club ในรอบที่สองของชีวิตคือช่วงเวลาอายุเกือบจะเข้าเลข 3 เริ่มรู้สึกว่า เออ ถวิลหาชีวิตที่เราเคยมีความฝัน เหมือนที่เราเคยฟังเพลง Hot Wave, คลื่น FAT อินไปกันเพลง แต่พอช่วงหนึ่งการฟังเพลงเหล่านี้ก็เฉย เพราะอายุที่มากขึ้น สิ่งที่เคยสนุกเคยทำบ้าๆ บอๆ สมัยวัยรุ่นมันเริ่มหายไป
The Breakfast Club ในครั้งที่อายุกลางคนสามสิบปลายๆ (อาจจะเพราะตัวเองประสบปัญหา Midlife Crisis) กลายเป็นบทสนทนาและการเปิดใจในตอนท้ายสร้างความเจ็บปวด และประทับใจให้กับผู้ใหญ่ วัยที่เรากลายเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวให้ร้องไห้ออกมาได้อย่างน่าแปลกใจ ทั้งที่มันแทบไม่มีอะไรสะเทือนใจ หรือเศร้าเลย แต่สิ่งที่มันกระทบจิตใจคือ การเติบโตที่เราผ่านมันมา มันอยู่ในความหมาย และการกระทำของตัวละครเหล่านั้นที่อยู่ในห้องปกครอง และสิ่งเหล่านั้นแม้จะไม่ตรงแต่เราต้องเสียน้ำตาให้กับมันเพราะว่า เราเข้าใจมัน – นี่เราอ่อนไหวขนาดนี้ไปได้เลยเหรอ?
ตัวละครแต่ละตัวที่ปรากฏเข้ามาใน The Breakfast Club เป็นการสะท้อน Stereotype ของตัวละครที่เราพบเห็นบ่อยๆในหนังวัยรุ่น เช่น เด็กเกเร ตัวเอกของเรื่อง Bender (Judd Nelson), หนุ่มนักกีฬาสุดฮอต Andrew (Emillo Estevez), สาวแปลกแยกสังคม Allison (Ally Sheedy), สาวไฮโซที่มั่นใจ Claire (Molly Ringwald), เด็กเนิร์ดบ้าเรียน Brian (Anthony Michael Hall) ที่ไม่รู้ว่าเพราะอะไรแต่ทั้งหมดต้องมาอยู่ในห้องปกครอง ผ่านการดูแลของคุณครู
Stereotype ทั้งหมดนี้กลายเป็น เหมือนตำราที่ให้หนังภาพยนตร์แนววัยรุ่น HighSchool ยุคหลังๆ ต้องมีองค์ประกอบ Character Development ด้วย Stereotype รูปแบบนี้เกือบทุกเรื่อง
วีรกรรมเฮี้ยวๆ ซ่าๆ ทำเรื่องบ้าๆบอๆ แบบ American Pie คงจะมาเต็ม ขอตอบว่าไม่ใช่ The Breakfast Club มีการเล่าเรื่อง Storytelling ของหนังแบบ ภาพยนตร์ Before Sunrise ที่ขาย Dialogue บทพูดที่คมคายมากกว่า
ร้อยพ่อพันแม่ ต่างสังคมต่างการเลี้ยงดู ของวัยรุ่นเด็กซ่า ทั้ง 5 คนที่สังคมที่เติบโตมา และการเลี้ยงดูแตกต่างกันต้องมาถูกกักบริเวณเพราะได้ทำความผิดบางอย่าง และถ้ามองให้ดี ทั้ง 5 คือตัวแทนของความคาดหวังที่ล้มเหลว เพราะการคุมประพฤติในห้องปกครองเป็นสัญลักษณ์ของจุดตกต่ำของตัวแทนที่มาจากสังคมแต่ละสังคม พวกเขาได้เปิดใจพูดคุยกันจากคนแปลกหน้ากลายเป็นทำความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนมุมมอง และได้รู้ใจกันและกันว่า พิษของผู้ใหญ่คือความความคาดหวังที่คอยความกดดันพวกเขาให้รู้สึกเจ็บปวด และอึดอัดในสิ่งที่ตัวเองเป็น ผู้ใหญ่ที่พ่นพิษใส่ก็ไม่ใช่ใครที่ไหร ก็เป็นคนที่ใกล้ตัวเด็กทั้ง 5 ที่สุดนั่นแหละ คือ “คนในครอบครัว”
ซึ่งข้อดีของการเป็นหนังแนว Coming of Age นั้นคือการเติบโต ซึ่งอาจจะเป็นการเติบโตทางความคิด และการกระทำที่เราจะเห็นในระยะเวลา1 วัน ที่แต่ละคนต่างให้คำตอบแก่กันและกันว่าวันนี้ทุกคนในห้องนี้ได้ลืมความเป็นตัวเอง เป็นเพียงความคาดหวังของคนในครอบครัว บางคนลืม “เพื่อน” เพราะต้องอยู่กับสังคมที่ชิงดีชิงเด่นอย่าง Andrew และ Claire
แต่สุดท้าย The Breakfast Club ก็พาเรา และวัยรุ่นทั้ง 5 ไปถึงคำตอบที่เราต้องเดินทางไปค้นหานั่นคือ “ใครสักคน” หรือ “คนที่รับฟัง” และการเติบโตแบบนี้แหละที่จะทำให้เด็กแบบนี้แหละที่จะมีประโยชน์ต่อสังคมในภายภาคหน้า ถ้าพวกเขายอมรับฟัง และเปิดใจในสิ่งที่พวกเขาอึดอัด โดยมีใครสักคนอยู่ข้างๆ และเป็นผู้ใหญ่ที่ดี รับฟัง เข้าใจพวกเขา
สัญลักษณที่แสนฉลาดคือ เมื่อครูห้องปกครอง มีทัศนคติที่ลบกับเด็กแค่ด้านเดียว ก็จะคิดแค่ว่า “เด็กแบบนี้โตมาจะเป็นแบบเราได้ยังไง พวกเด็กพวกนี้มันแย่?”
แต่เคยมองกลับกันไหมว่า
เด็กพวกนี้มองผู้ใหญ่แบบเรายังไง อาจจะ “ถ้าเราโตไปแล้วต้องเป็นผู้ใหญ่แบบนี้ เราอยากจะโตเหรอ?”
คะแนน 9/10 เพลงตอนจบ Don’t you (forget about me) ของ Simple Minds ฉากที่ Bender เดินชูมือกลางสนามคือฉาก และเพลงที่เป็นระดับตำนานนะ