The Golden Voyage of Sinbad (1974) : นิทาน บันเทิง คลาสสิค

เรื่องราวการผจญภัยของจอมสลัดแห่งน่านน้ำทะเลดำ ซินแบด ภาพยนต์คลาสสิคอีกชุดของ Ray Harryhausen เทคนิค Dynamation สุดคลาสสิค ความพยายามปลุกปั้นสัตว์ประหลาดรวมกับการแสดงจริงๆของนักแสดง จึงเกิดเป็นเรื่องราวของภาพยนต์ของซินแบดในตอนนี้ The Golden Voyage of Sinbad การผจญภัยในครั้งที่สองบนแผ่นฟิลม์ที่คลาสสิคและสนุกกว่าทุกภาคที่ทำมา
ในส่วนตัวของผู้เขียนเองจะว่าไป ซินแบดในภาคนี้นั้น ไม่มีเนือ้เรื่องแรงจูงใจใดๆ นอกจากการโชว์งานโปรดักชั่น ของทาง Ray Harryhausen ซินแบดซึ่งกำลังเดินสมุทรอยู่นั้น ลูกเรือได้พบสัตว์ประหลาดคาบสร้อยรูปร่างประหลาด ตกลงมาจากฟ้าซินแบดไม่ยอมทิ้งสร้อยเส้นนั้นกลับห้อยไว้ที่ตัวเอง
ทำให้อิทธิฤทธิ์ของสร้อยนั้นดึงความฝันให้ซินแบดต้องแก้ปัญหา ในความฝัน กับนครแห่งหนึ่ง ผมกับสาวงามที่ชำนาญด้านเวทย์มนต์ กษัตริย์ที่ต้องสาปจากพ่อมดผู้ชั่วร้ายต้องสวมหน้ากากทองไว้ตลอดเวลา เมื่อสืบสาวราวเรื่องก็ได้เป็นอันผจญภัยกันตามสูตรของ หนังผจญภัย
ผู้เขียนก็คงยืนยันอยู่ว่า ภาพยนต์คลาสสิคเรื่องนี้ หากว่าไม่คิดอะไรกับเทคนิคกระป๋องกระแป๋งที่เทียบกับ CG ในยุคนี้ไม่ได้หากมองข้ามจุดนี้ไป ภาพยนต์เรื่องนี้ The Golden Voyage of Sinbad คือนิทานสนุกเรื่องนึงที่ฟังและดูหรืออ่านได้เพลินทีเดียว
บุตรหลานที่นั่งชมกับคุณ จะสนุกไปกับ การไล่จับมังกรจิ๋วสมุนของพ่อมด, แม่ย่านางเรือจากไม้ที่เคลื่อนไหวได้จากคำสาป, เซ็นทอร์มนุษย์ม้าป่าเถื่อนที่พร้อมจะฟาดทุบกระโหลกทุกชีวิตที่มันประสบ, กริฟฟินสัตว์ประหลาดหัวเป็นอินทรีย์ตัวเป็นสิงห์โตที่จะออกมาต่อกรกับเซ็นทอร์ และ รูปปั้นเจ้าแม่การี 10 มือที่ซินแบดของเราจะรับมือไหวมั้ย?
The Golden Voyage of Sinbad คงเป็นภาพยนต์คลาสสิคอีกเรื่อง ที่เจาะประเด้นปรัชญาอะไรไม่ได้ เพราะสร้างจากเรื่องเล่านิทานที่นำเสนอผ่านจิตนาการ โดยอาศัยความพยายามตีโจทย์ในด้านข้อจำกัดเทคนิคถ่ายทำในยุคนั้น
ยังไงซะ ซีรีย์ของ Ray Harryhausen ก็คงตราตรึงในความทรงจำวัยเด็กของผู้เขียนไปอีกนาน