The Hurt Locker : โลกอันแสนเจ็บปวด
The Hurt Locker อาจจะแปลว่า “ล็อคเกอร์อันแสนเจ็บปวด” อย่างที่ทุกคนที่เห็นชื่อของภาพยนต์เรื่องนี้ปรากฏบนบิลบอร์ด หรือแผ่นโปสเตอร์ และหลังจากนั้นเมื่อภาพยนต์เรื่องนี้ได้รับรางวัลออสการ์จากภาพยนต์ที่ฉายจำกัดโรงก็กลายเป็นหนังที่หลายคนไขว่คว้าอยากจะชมว่ามันเจ๋งถึงขั้นระดับออสการ์จริงหรือไม่ ส่วนตัวแล้ว The Hurt Locker นั้นให้อารมณ์ร่วมไปกับภาพยนต์เรื่อง In the Valley of Elah เป็นประเด็นเกี่ยวกับเหล่าทหารสหรัฐฯ เข้าร่วมสงครามในตะวันออกกลางโดยไม่เต็มใจและไม่ชอบธรรม
หลังเหตุการณ์เครื่องบินสาย 9/11 ซึ่งการตัดสินใจของ จอร์จ ดับเบิลยู บุช นั้นได้สร้างความเศร้าสลดและความสุญเสียมากมายทั้งสองฝ่ายจวบจนถึงทุกวันนี้ สงครามอรัก และ อัฟกานิสถาน ก้คงยังไม่มีท่าทีจะบรรเทาลงเพียงแค่ว่าการดำเนินเรื่องของ In the Valley of Elah นั้นอยู่ที่ประเด็นของการเมืองที่เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนตัวละครและเหตุการณ์ดำเนินไป แต่ The Hurt Locker นั้น แคทรีน บิเกโลว์ ผู้กำกับหญิงเหล็กจากภาพยนต์ Point Break และ Strange Day ปูพื้นฐานไปที่อารมณ์และความรู้สึกของเหล่าทหารที่อยู่ท่ามกลางเหตุการณ์โดยไม่กล่าวอ้างถึงประเด็นการเมืองแม้แต่น้อย
ภาพยนต์ The Hurt Locker เป็นการติดตามการทำงานของหน่วยกู้ระเบิด นำโดย วิลเลี่ยม เจมส์ เป็นตัวนำเรื่อง เพราะการเสียชีวิตของ จ่าทอมสัน (กาย เพียช จาก Memento นี่เอง) ในขณะปฎิบัติหน้าที่ทำให้เจมส์ต้องมารับหน้าที่นี้แทนจ่าทอมสัน จะเห็นว่าฉากนึงที่ทั้งสองคนต้องเข้าไปปฏิบัติการเสี่ยงตายกู้ระเบิด
ในชุดป้องกันภัยแสนเทอะทะ เป็นสัญลักษณ์ที่เน้นให้เห้นได้ชัดว่าทั้งสองคนที่ปฏิบัติภารกิจอยู่นั้นกำลังทำงานที่ไม่เหมาะสมกับสิ่งที่พวกเค้าได้เรียนรู้และศึกษามา ไปจนถึง เจมส์ กับเพื่อนที่ต้องลงพื้นที่ในครั้งอื่นหรือนอกเวลาทำงานในอิรักพวกเขาก็ไม่ต่างอะไรจากตัวประหลาดใกล้ความเป็นความตายในสายตาของคนอิรักในพื้นที่ ภาพยนต์สะท้อนว่าเจมส์กำลังทำอะไร เดินหน้าไปไหน ตอกย้ำเป็นภาพรวมกับทหารสหรัฐฯ ทั้งหมด ซึ่งเป็นประเด็นที่ แคทรีน บิเกลโล ผู้กำกับหญิงต้องหาโจทย์มาถามคนดู
สำหรับมุมมองของเธอจะสื่อว่า สงครามก็เหมือนสิ่งที่เราเสพ เพียงแต่สิ่งที่เสพมีความรุนแรงมากน้อบแค่ไหน บางคนติดโทรศัพท์ บางคนติดโทรทัศน์ บางคนติดยา สำหรับ The Hurt Locker การเสพความรุนแรงของสงครามและความโหดร้าย ของทุกฝ่าย มากขึ้นทุกวัน ที่สุดแล้วก็จะมองไม่เห็นแสงสว่างของสิ่งใด ไม่เห็นคุณค่าชีวิตของตน ไม่เห็นความถูกผิด ไม่เคารพถึงสิทธิส่วนบุคคล และสุดท้ายก็จะมองไม่เห็นสิ่งดีงามอีกต่อไปดังเช่น เจมส์ เผชิญเค้าไม่ได้เสียอวัยวะใดๆ ไม่เจ็บปวดทางร่างกายทั้งสิ้น แต่สิ่งที่เค้าเสียคือ จิตวิยญาณ และตัวตน
ภาระกิจการกู้ระเบิดแต่ละครั้ง กฎเกณฑ์ทั้งหลายสูญหายไปมีเพียงความคิดเดียวคือ “ทำอะไรก็ได้ ที่ตัวเองจะไม่ต้องตาย”
การเข้าไปปฏิบัติภาระกิจการสวมชุดนิรภัยเทอะทะ เปรียบเสมือนการขังตัวเองใน ตู้ล็อคเกอร์ เพียงแค่ตู้ล็อคเกอร์นั้นเต็มไปด้วยความเจ็บปวด ไม่ว่าใครที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น ย่อมหนีไม่พ้นสิ่งที่เรียกว่า “ทุกข์” โดยนำเสนอผ่าน ความวิตกกังวลและความหวาดระแวงในแต่ละย่างก้าว ในแต่ละวัน
บทภาพยนต์ที่สร้างนั้นอ้างอิงจากประสบการณ์จริงของ มาร์ก โบล นักข่าวชาวอเมริกันที่เข้าร่วมติดตามเหตุการณ์สมรภูมิอิรักร่วมกับทหารหน่วย EOD ทำให้การจำลองสถานการณ์ต่างๆในภาพยนต์นั้นสมจริงเป็นที่สุด